กล่องดินสอ สรรค์สร้างสื่อสังคมเพื่อผู้พิการ

Nina Thanathat Chaiyanon
Good Factory
Published in
2 min readFeb 23, 2018

--

จากจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจผลิตสื่อการเรียนรู้เพื่อผู้พิการทางสายตาจน “เล่นเส้น” อุปกรณ์วาดเขียนที่ถ่ายทอดจินตนาการของเด็ก ๆ ในโลกมืดผ่านการสัมผัสด้วยมือออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้กลายเป็นที่รู้จักและคว้ารางวัลมาแล้ว มาถึงวันนี้ คุณต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท กล่องดินสอ จำกัด ยังคงเดินหน้าผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อผู้พิการไปพร้อมกับการสร้าง Inclusive Society สังคมที่ผู้พิการสามารถอยู่ร่วมกับคนไม่พิการได้ผ่านนวัตกรรมและความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน

สานต่อแนวคิดเพื่อผู้พิการ

ย้อนกลับไปช่วงที่คุณต่อเรียนปริญญาโทและใช้เวลาช่วงกลางวันไปทำงานอาสาสมัครช่วยสอนการบ้านเด็กตาบอดที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ที่นั่นไม่เพียงแต่ทำให้คุณต่อได้เข้าใจถึงความยากในการเรียนรู้ของเด็กที่มีความพิการทางสายตา แต่จุดประกายแรงบันดาลใจในการสร้างสื่อการเรียนรู้เพื่อเด็กตาบอดและต่อยอดแนวคิดใหม่ ๆ มาถึงปัจจุบัน

“เมื่อเราเห็นปัญหาการศึกษาเลยคิดว่าอยากทำสื่อการศึกษาดี ๆ ให้เด็กตาบอด ก็เริ่มออกแบบไปให้เด็กที่โรงเรียนสอนคนตาบอดลองเล่น ด้วยความที่จบเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจไม่ได้จบออกแบบก็ได้คุณครูและนักออกแบบที่รู้จักช่วยแนะนำ จนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ตัวแรก คือ เล่นเส้น อุปกรณ์วาดรูปสำหรับเด็กตาบอด ทำเสร็จแล้วคิดว่าแจกฟรีไม่น่าจะไหว เลยใช้โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามากลายเป็นบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ในปี 2556 ช่วงแรกกว่าจะอยู่ตัวใช้เวลาประมาณ 2 ปี คิดโครงการใหม่ที่อยากทำแทบทุกวันและออกไปทดลอง ช่วงก่อตั้งเป็นช่วงที่สนุกที่สุดและยากที่สุด เพราะเราเริ่มจากศูนย์ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับคนพิการเลย อาศัยการไปปรึกษาจนรู้มากขึ้น เรียกได้ว่าเรารู้จักองค์กรคนพิการเกือบทุกที่ในไทย ซึ่งการที่เราเป็นคนนอกวงการคนพิการที่กระโดดมาทำเรื่องนี้ ทำให้สามารถเสนอแนวคิดใหม่แทนที่จะเป็นการสงเคราะห์แบบเดิมกลายเป็นแนวคิดความเท่าเทียม หมายถึงว่า เมื่อเราออกแบบสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนพิการ เขาก็จะไม่พิการอีกต่อไป จากแนวคิดนี้บริษัทเราเลยเปลี่ยนเป้าหมายเดิมที่เน้นการผลิตสื่อการศึกษามาเป็นการสร้างสังคมที่คนพิการอยู่ร่วมกับคนไม่พิการได้ Inclusive Society และทำงานใน 3 ด้านคือ การศึกษา การสร้างอาชีพ และการสร้างความตระหนักต่อคนพิการในสังคม ผู้พิการที่เราเข้าถึงได้คือคนพิการกลุ่มที่อยากและมีความพร้อมในการกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเท่าเทียม”

ลงมือทำจริงจังทันที

กระบวนการทำงานของกล่องดินสอ คุณต่อให้ความสำคัญกับการคิดแล้วลงมือทำทันที “ทีมงานหลัก ๆ ตอนนี้มี 5 คน เรามีหน้าที่บริหารแนวทาง คิดโครงการใหม่ ๆ และทำบัญชีการเงิน ส่วนอีก 3 คนจะมี Project Manager ที่ดูแลแต่ละโครงการ นักออกแบบและ Product Design ที่ร่วมกันทำงานทุกอย่างที่ต้องการความสวยงาม การทำงานของเราจะเริ่มจากทีมงานคิดโครงการขึ้นมาว่าอยากทำอะไร เพราะอะไรถึงควรทำ จากนั้นคือทำเลย ลองเลย แต่ต้องลองให้ง่ายที่สุด มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แล้วมาดูผลกันว่ามีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ขั้นต่อมาคือเริ่มคุยหาแนวร่วม เอาแนวคิดและกิจกรรมที่ทำแล้วเห็นผลไปคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง หากมีคนร่วมด้วยแสดงว่าโครงการนั้นดีก็เริ่มทำจริงจังมากขึ้น ๆ โดยเน้นการขยายผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละโครงการที่ทำมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างกัน อย่างโครงการผลิตภัณฑ์ก็จะมีการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ส่วนโครงการที่ออกมาเป็นกิจกรรมก็จะเป็นองค์กรเอกชนหรือภาครัฐให้เงินสนับสนุน แต่บางโครงการถ้าไม่มีโมเดลธุรกิจก็ต้องใช้เงินจากค่าดำเนินการโครงการอื่นมาชดเชย”

มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ทั้งผลิตภัณฑ์ กิจกรรม และองค์ความรู้ เพื่อให้คนพิการสามารถกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างเท่าเทียมคือสิ่งที่คุณต่อเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งแม้จะต้องพบกับอุปสรรค “เอกลักษณ์ของกล่องดินสอมี 3 ด้านคือ นวัตกรรม ความเท่าเทียม และความยั่งยืน งานทั้งหมดจึงเป็นการนำเสนอนวัตกรรมใหม่เพื่อให้คนพิการอยู่ในสังคมแบบไม่แบ่งแยก ซึ่งสินค้า บริการ หรือการจัดกิจกรรมอาจจะยังไม่พอ ต้องแก้ทั้งระบบของปัญหานั้น ๆ รวมถึงการไปทำงานเชิงนโยบาย เปลี่ยนทัศนคติของคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นด้วย ดังนั้นงานของเราส่วนมากจะทำร่วมกับหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ คนไทยใจบุญ คนไทยบริจาคและทำงานอาสาสมัครสูงติดอันดับต้นของโลก ซึ่งมีผลข้างเคียงเพราะของฟรีเป็นสิ่งเสพติด คนที่ได้รับจะรู้สึกว่าต้องได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับของฟรีตลอดเวลา ดังนั้นช่วงเริ่มแรกที่ทำเล่นเส้น เราไม่สามารถขายให้กับใครเลย เพราะโรงเรียนสอนคนตาบอดทุกโรงเรียนจะบอกเหมือนกันว่าเขาเป็นโรงเรียนเด็กพิการ แต่พอทำมาเรื่อย ๆ ถึงตอนนี้สิ่งที่ได้คือ เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่แท้จริง คนพิการได้รับการยอมรับในสังคม ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคม ปัญหาสังคมเป็นปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อนและยากในการแก้ไข การที่ปัญหายังอยู่แสดงว่าแบบเดิมไม่เวิร์ค ต้องแก้ปัญหาแบบใหม่ ต้องมีคนที่มีนวัตกรรมหรือที่เราเรียกว่า นวัตกร เข้ามาแก้ ถึงจะมีโอกาสแก้ได้

นวัตกรรมแก้ปัญหาได้

หากพูดถึงนวัตกรรมหลายคนมักนึกถึงแต่ความล้ำสมัย ทั้งที่นวัตกรรมมีประโยชน์มากมาย ที่สำคัญคือสามารถนำไปแก้ปัญหาได้ ซึ่งคุณต่อบอกกับเราในประเด็นนี้ว่า “นวัตกรรมครอบคลุมทุกอย่างที่เป็นสิ่งใหม่และมีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ กิจกรรม หรือแม้กระทั่งแนวคิด การแก้ปัญหาสังคมไม่ต้องคิดถึงของไฮเทคก็ได้ แค่แก้ปัญหาได้ก็พอแล้ว เพราะยิ่งไฮเทค ยิ่งใช้ยากและพังง่าย อะไรที่ง่าย ๆ แต่แก้ปัญหาได้คือนวัตกรรมที่ดีที่สุด เราจึงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงระบบ คือ พัฒนานวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์แล้วเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์รอบ ๆ ปัญหานั้นด้วย เช่น จัดกิจกรรมวิ่งด้วยกัน ชวนคนพิการและไม่พิการมาวิ่ง เป็นต้น เป็นนวัตกรรมเชิงกิจกรรม แต่ถ้าจัดกิจกรรมไม่พอก็ต้องให้ผู้จัดงานเปิดรับนักวิ่งพิการด้วย โดยต้องให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อขยายผล ให้องค์กรเอกชนที่จ้างงานคนพิการมีส่วนร่วม และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้สุดท้ายแล้วระบบสามารถที่จะทำงานด้วยตัวเองได้ อยากให้ทุกคนตระหนักว่า ประโยชน์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเรานำเทคโนโลยีนั้นมาใช้งานในการแก้ปัญหา หมายถึง จะต้องมีการเชื่อมโยงกันระหว่างนวัตกรผู้พัฒนานวัตกรรมกับผู้ทำงานภาคสังคมที่เห็นปัญหา ถ้าคนทำงานภาคสังคมเป็นนวัตกรเองได้ใช้เทคโนโลยีเป็นก็ดี แต่ถ้าอยู่คนละคน การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ไปในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่สำคัญมากกับสังคมของเรา”

ด้วยความตั้งใจที่จะให้ผู้พิการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ คุณต่อจึงยังคงสรรค์สร้างสื่อการเรียนรู้และโครงการดี ๆ ไปพร้อมกัน เพื่อให้กล่องดินสอบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม “หากใครเคยดูสไปเดอร์แมนจะมีประโยคที่ลุงเบนพูดไว้ก่อนตายว่า ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถ มีความพร้อมที่จะทำเพื่อคนอื่น การทำเพื่อคนอื่นมันไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณควรทำ แต่เป็นสิ่งที่คุณต้องทำ เพราะถ้าคุณไม่ทำ ใครจะทำ ยังมีปัญหาสังคมอีกมากที่ต้องการได้รับการแก้ไข”

สำหรับใครที่สนใจสามารถขอข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่อีเมล info@klongdinsor.com หรือจะเข้าไปที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/klongdinsor หรือเว็บไซต์ www.klongdinsor.com

--

--