ผู้สูงวัยกินยา เรื่องธรรมดาที่ไม่ควรมองข้าม

Thunyaporn S.
Good Factory
Published in
2 min readSep 7, 2017

--

การกินยาดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิต แต่ความไม่ธรรมดาคือ หลายคนยังมีความเข้าใจ หรือมีพฤติกรรมการกินยาที่ไม่ถูกต้อง และปัญหานี้จะกลายเป็นเรื่องน่าห่วงมากขึ้น เมื่อคนๆนั้นมีโรคประจำตัวและต้องอยู่กับการกินยาไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงวัย เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บเริ่มมาเยือน ทั้งไขมัน ความดัน เบาหวาน และอีกสารพัดโรค เมื่อเป็นแล้วก็ต้องรักษา ยาจึงเปรียบเสมือนเพื่อนคู่กายของผู้สูงวัย ขาดเธอเหมือนขาดใจ และถ้าห่างกันไปนานๆ โรคเก่าอาจไม่หาย ซ้ำร้ายโรคใหม่อาจมาเยือนได้

ขณะที่โรคประจำตัวเริ่มถามหา แต่การทำงานของร่างกายกลับเสื่อมถอย ไม่ว่าจะเป็น;

  1. สายตาเริ่มมีปัญหา มองเห็นไม่ชัด การอ่านฉลากยาที่มีตัวหนังสือขนาดเล็ก อาจกลายเป็นเรื่องยากของผู้สูงวัยได้
  2. ความจำไม่ค่อยดี หลงลืมได้ง่าย โอกาสที่จะลืมกินยาย่อมมีสูง
  3. ร่างกายมีความไวต่อยา โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง และระบบการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ
  4. การทำงานของตับ ยากินมักจะจะผ่านขบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นแรกที่ตับ ถ้าขบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มเสื่อมลง จะทำให้มีระดับยาในเลือดสูงขึ้น จนอาจเกิดอันตรายได้
  5. การทำงานของไต เมื่ออายุมากขึ้ีน ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง ทำให้การขับถ่ายยา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขับออกทางไตย่อมน้อยลง โอกาสที่ยาจะสะสมในร่างกายมีมากขึ้น จนเกิดอาการแพ้ได้

เพราะความเสื่อมที่ประดังเข้ามา ทำให้เรื่องผู้สูงวัยกินยา จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ควรมองข้าม และต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ปัญหาการกินยาในผู้สูงวัยที่มักพบ คือ

  1. ลืมกินยา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของผู้สูงวัย โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ต้องกินยาเป็นประจำ และมียาหลายชนิดที่ต้องกินในแต่ละมื้อ ขณะที่ความจำเริ่มลดลง พฤติกรรมลืมกินยาจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อย
  2. ซื้อยามากินเอง ผู้สูงอายุบางคนชอบซื้อยามากินเองตามคำแนะนำของคนใกล้ตัว หรือหมอตี๋ที่ร้านขายยา ทั้งยาชุดและยาสมุนไพรที่ไม่ได้รับรองมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่มีสารสเตียรอยด์ เมื่อกินไประยะแรกมักจะมีอาการดีขึ้น แต่กลับส่งผลร้ายในระยะยาว ทั้งกระดูกพรุน ความโลหิตสูง และเกิดผลเสียต่อไต
  3. กินยาของคนอื่น ด้วยความเอื้อเฟื้อของเพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน หรือคนในบ้าน พอเล่าอาการเจ็บป่วยให้กันฟัง แล้วพบว่ามีอาการคล้ายกัน เกิดพฤติกรรมใจดีแบ่งยาให้ หรือขอยามาทดลองกิน ด้วยหวังว่าอาการป่วยไข้จะดีขึ้น โดยไม่รู้ว่าอาการที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากโรคหรือสาเหตุต่างกัน หรืออาจเกิดจากโรคเดียวกันแต่ปริมาณยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการแพ้ยา เกิดอาการข้างเคียง ใช้ยาเกินขนาด ไปจนถึงรักษาโรคไม่หาย
  4. หยุดยา หรือปรับขนาดยาเอง มีที่มาจากความเชื่อ 2 แบบ คือ แบบที่ 1 เชื่อว่ากินยามากไม่ดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็หยุดยาเอง แต่ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ จะต้องกินให้หมดตามที่หมอสั่ง มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดการดื้อยาได้ ความเชื่อแบบที่ 2 คือ กินยามากแล้วหายเร็ว จึงเพิ่มขนาดยาเอง ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือ พิษจากยา
  5. เป็นหลายโรค กินหลายยา หาหลายหมอ ผู้สูงอายุหลายคน มักจะมีโรคประจำหลายโรค เวลาไปหาหมอ ก็จะไปหาหมอหลายคน หลายแผนก ตามอาการที่เป็น โดยไม่มีคุณหมอช่วยดูภาพรวมให้ว่า ยาทั้งหมดที่ได้รับมาจะมีปฏิกิริยาต่อกันหรือยาตีกันหรือไม่ เพราะหลายครั้ง ยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคหนึ่ึง อาจไปมีผลแทรกแซงการทำงานของยาที่ใช้รักษาอีกโรคหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง และรักษาโรคไม่ได้ผลเท่าที่ควร
  6. กินยาไม่ตรงเวลา หลายคนไม่รู้ หรือจำไม่ได้ว่า การกินยาแต่ละชนิดมีหลักการอย่างไร เช่น ยาก่อนอาหารควรกินก่อน 0.5–1 ชม. เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดี หรือยาหลังอาหาร ควรกินหลังอาหาร 15–30 นาที หรือยาที่กินหลังอาหารทันที เป็นยาที่ระคายเคืองต่อกระเพาะ ถ้ากินในช่วงท้องว่าง อาจเป็นแผลในกระเพาะได้
  7. เก็บรักษายาไม่ถูกต้อง บางครั้งผู้สูงอายุไม่รู้ว่ายาประเภทไหนควรเก็บให้พ้นแสง ยาประเภทไหนควรเก็บที่อุณหภูมิห้องหรือในตู้เย็น หรือไม่ควรแกะยาออกจากห่อฟรอยด์มาเตรียมไว้ข้างนอกเป็นจำนวนมาก เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ ซึ่งการเก็บรักษายาไม่ถูกต้องนี้ เกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ไม่ได้อ่านคำแนะนำที่ซองยา หรืออ่านแล้ว แต่ตัวหนังสือมีขนาดเล็กจนมองไม่เห็น หรือที่ซองยาไม่มีคำแนะนำเรื่องการเก็บรักษายา ซีึ่งโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้จัดให้มีเภสัชกรให้คำแนะการใช้ยาขณะที่รับยา แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ผู้สูงอายุกลับจำไม่ได้ หรือคนดูแลไม่ได้ใส่ใจ

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามาช่วยกันออกแบบทำให้ผู้สูงอายุสามารถกินยาได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น “จะทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยได้รับยาที่ถูกกับโรค ยาไม่เสื่อมคุณภาพ ยาไม่ออกฤทธิ์ตีกัน ไม่ใช้พร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น”

และ “จะทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยกินยาได้ถูกปริมาณ ถูกเวลา และไม่ลืมกินยา “

เมื่อผู้สูงวัยกินยาได้ถูกต้อง ก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ไม่ต้องใช้ยามากเกินความจำเป็น ไม่ต้องกินยาซ้ำซ้อน ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคใหม่ที่มีผลมาจากการใช้ยา ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยา สิ่งสำคัญที่สุดคือ มีอายุยืนยาวอยู่กับลูกหลานไปได้นานๆ

--

--