BOARDGAME for CHANGE บอร์ดเกมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

Nina Thanathat Chaiyanon
Good Factory
Published in
2 min readFeb 23, 2018

--

เมื่อเกมไม่ได้มีไว้เพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาชิกหลักของกลุ่มเถื่อนเกม จึงใช้บอร์ดเกมมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับห้องเรียนยุคใหม่ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในห้องเรียน การลงมือทำและทดลองจนพบคำตอบด้วยตนเอง

บอร์ดเกมสร้างการเรียนรู้

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ดร.เดชรัตได้รู้จักบอร์ดเกมจากลูกชาย (แดนไท สุขกำเนิด) ที่เป็นสมาชิกชมรมบอร์ดเกมในขณะนั้น ประกอบกับมีโอกาสไปงานมหาวิทยาลัยเถื่อน ปี 2 ทำให้ได้พบกับคนที่สนใจสิ่งเดียวกันจนได้มารวมตัวกันในชื่อว่าเถื่อนเกมที่เน้นการออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ ก่อนจะเริ่มนำบอร์ดเกมมาใช้ประกอบการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างจริงจัง ดร.เดชรัตกล่าวว่า “ปัญหาเริ่มจากในห้องเรียน เราสังเกตว่านักเรียนนักศึกษาสนใจแต่จดเล็กเชอร์ ไม่ค่อยคุยกับผู้สอน เลยคิดว่าต้องหาตัวช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ซึ่งสิ่งสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ คือ ความน่าสนใจ การได้ค้นหา ไม่ชอบให้บอกคำตอบตรง ๆ ชอบที่จะรู้ด้วยตัวเอง ได้ทดลองลงมือทำ และชอบฟังความคิดเห็นจากเพื่อนมากกว่า เลยมองว่าบอร์ดเกมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ เพราะตอบโจทย์ได้ค่อนข้างดี ก็ชวนเพื่อน ๆ มาช่วยออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้เพื่อช่วยครูหรืออาจารย์ในการสอนวิชาต่าง ๆ มีทั้งเกมเศรษฐศาสตร์ เกมธุรกิจการเกษตร เป็นต้น เป้าหมายของทุกเกมคืออยากให้เกิดการเรียนรู้ แต่บางเกมก็สามารถใช้ทดสอบได้ ซึ่งบอร์ดเกมจะมี 2 แบบคือที่มีคนเล่นประมาณ 6–7 คนแล้วมีอุปกรณ์ตรงกลาง กับที่ใช้ในห้องเรียนเรียกว่าการ์ดเกม จะเล่น 30–40 คนขึ้นไป ยกตัวอย่างเกมฝ่าวิกฤติประมงไทย มีการนำ Yellow Card มาเล่น โดยทุกคนเป็นชาวประมง แต่ละกลุ่มต้องออกเรือจับปลาให้ได้มากที่สุด แต่พอปลาเหลือน้อยลง ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด ถ้าโดนใบเหลือง 2 ครั้งแพ้ทั้งกลุ่ม เกมนี้เราอยากให้นักศึกษาได้เห็นชีวิตชาวประมงและร่วมมือกัน จุดสำคัญของเกมจะต้องสร้างให้ผู้เรียนรู้สึก ซึ่งเลกเชอร์ทำไม่ได้ แต่เกมดึงตรงนี้ออกมาได้ ในการออกแบบเกมต้องมีตรงนี้ แต่อาจความรู้สึกไม่เหมือนกันได้ เรามองว่าถ้าจะให้ผู้เรียนเข้าใจต้องมีทั้งความรู้และความรู้สึก”

ออกแบบเกมอย่างมีเป้าหมาย

ในการออกแบบเกมเพื่อสร้างการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือต้องรู้เป้าหมายที่ชัดเจน ดร.เดชรัตกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “เราต้องเริ่มต้นจากเป้าหมายว่าใช้เกมไปเพื่ออะไร โดยเรียกกันให้ชัดเจนว่า KAP ซึ่ง K คือ Knowledge ให้ความรู้อะไร A คือ Attitude ให้แนวคิดและมุมมองใด และ P คือ Practice ทักษะและความว่องไวที่ได้เป็นอย่างไร สิ่งที่ต้องย้ำอยู่เสมอคือ เราไม่ได้ออกแบบลอย ๆ ต้องรู้ว่าเกมจะช่วยตอบอะไร บางเกมตอบความรู้ บางเกมตอบความรู้สึก บางเกมฝึกทักษะให้ไวขึ้น บางเกมเป็นการทบทวนความรู้ หลังจากที่รู้วัตถุประสงค์ชัดเจนแล้วต้องวิเคราะห์ตัวผู้เรียนได้ว่าเขาเป็นใคร ชอบไม่ชอบอะไร เด็กบางคนไม่ชอบอ่านวรรณคดี ถ้าเราจะเล่นเกมนี้ต้องหาตัวช่วย เช่น ในการ์ดต้องมีชื่อตัวละครและชื่อเรื่องกำกับไว้ ทำให้เล่นได้แบบไม่มีข้อจำกัด นอกจากนี้ต้องมีพื้นเรื่องหรือธีมของเกม ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงไปตรงมา เช่น ถ้าจะพูดเรื่องจิตอาสาไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องทำบุญ แต่พูดเรื่องอื่นที่ตอบโจทย์การเสียสละหรือการทำเพื่อส่วนรวม จากนั้นมาดูที่กลไกของเกมว่าลักษณะแบบไหนที่ตอบโจทย์ ดูสถานที่ในการเล่นเกมด้วย และสุดท้ายคือรายละเอียดของเกมต้องมี Shot หรือ Moment ความลับที่ใส่ลงไป ซึ่งเกมจะพาคนเล่นไปสู่ตรงนั้นโดยไม่บอกซึ่งจะต้องลองเล่นเท่านั้นถึงรู้ นี่คือความท้าทายในการออกแบบเกม และเวลาที่ออกแบบแล้วถ้าความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ลองเล่นได้เลยจะได้รู้ว่าอะไรที่ดีกว่าโดยไม่จำเป็นต้องเถียงกัน ผมชอบออกแบบเกมและนำไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรมของการเชื่อ ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อพ่อแม่ เชื่อครู แต่การเรียนรู้ไปพร้อมกันน่าจะดีกว่า เพราะอาจจะได้เจออะไรใหม่ ๆ ประเด็นเรื่องการลองจึงสำคัญมาก”

พัฒนาเกมให้ความรู้แบบไม่จำกัด

เพราะเกมทุกเกมมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดร.เดชรัตให้ความเห็นว่า “แต่ละเกมมีเป้าหมายของตัวเอง เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าสุดท้ายแล้วบอร์ดเกมจะต้องไปสู่อะไร แต่บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ เราอยากพัฒนาให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น มีความน่าสนใจมากขึ้น ตอนนี้ก็มีการเปิดอบรมให้กับครูอาจารย์ที่สนใจ ยิ่งถ้าน้อง ๆ รุ่นใหม่สามารถออกแบบเกมหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ก็ยิ่งดี ซึ่งเราพยายามสนับสนุนเรื่องนี้ ในการนำบอร์ดเกมมาใช้เกี่ยวกับการเรียนส่วนตัวมองว่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่การออกแบบเกมก็ยังมีข้อจำกัด คืออาจารย์บางท่านอาจจะใช้เกมสำเร็จรูป แม้เกมเหล่านั้นจะเป็นเกมที่ดี แต่อาจไม่ตรงกับจุดประสงค์ของเรา เพราะฉะนั้นทีมเถื่อนเกมของเราจึงพยายามเอาเป้าหมายการเรียนรู้ของอาจารย์เป็นตัวตั้งและดูว่ากลไกการเรียนรู้แบบไหนที่ช่วยตอบโจทย์เป้าหมายการเรียนรู้นั้นจริง ๆ แล้วนำมาสร้างเกมในแบบของเราเอง ซึ่งบอร์ดเกมมีจุดเด่นตรงที่เป็นเกมที่ได้ค้นหาคำตอบ เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย อย่างเด็กที่เริ่มคิดว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับเขาก็สามารถเล่นบอร์ดเกมได้แล้ว โดยดูที่ตัวเด็กมากกว่าอายุ ที่สำคัญบอร์ดเกมช่วยในเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระว่างกัน เล่นกันในครอบครัวพ่อแม่ลูกสร้างเสริมความสัมพันธ์และการเรียนรู้ในครอบครัวได้ คนต่างวัยก็สามารถเล่นด้วยกันได้ ซึ่งเกมทุกเกมช่วยพัฒนาความรู้ได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอคือลิมิตในการเล่นที่พอดีไม่มากจนเกินไป”

เปิดพื้นที่ให้นักออกแบบเกม

สำหรับทิศทางของบอร์ดเกมในอนาคต ดร.เดชรัตกล่าวว่า “โดยธรรมชาติน่าจะคล้าย ๆ กับแฟชั่นคือมีบางส่วนที่ดำรงอยู่ต่อไปและบางส่วนที่หายไป แต่ส่วนที่ยังคงอยู่และพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ คือการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ ในประเด็นเรื่องความน่าสนใจของบอร์ดเกมกับเด็กน่าจะไปได้ดี แต่ส่วนที่ท้าทายที่สุดน่าจะเป็นห้องเรียน เราต้องดึงคุณครูให้เข้ามาสนใจและให้ความสำคัญกับการออกแบบเกมมากขึ้น เพราะสามารถทำได้ง่าย ๆ ในทุกวิชาขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มี สิ่งสำคัญที่อยากฝากคืออยากให้เปิดพื้นที่ให้นักออกแบบเกมมากขึ้น เพราะเป็นการส่งผ่านการเรียนรู้ อย่างเช่นถ้านิสิตแพทย์ออกแบบเกมชีววิทยาดี ๆ ให้น้อง ๆ มัธยม ก็อาจไม่จำเป็นที่น้องจะต้องมารอติวกับรุ่นพี่ คือสามารถเล่นได้เอง เพราะฉะนั้นยังมีตัวช่วยอีกมากในสังคมที่ทำให้การเรียนรู้ทั้งหมดดีขึ้นได้ สำหรับคนเล่นเกมก็อยากให้ลองเล่นเกมหลาย ๆ แบบ ไม่อยากให้อยู่แต่กับตัวเอง อย่างบอร์ดเกมเป็นสะพานที่เชื่อมไปสู่ผู้อื่นได้ เป็นอีกการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ลองออกไปเจอคนอื่นบ้างก็สนุกและท้าทายไปอีกแบบ”

ปัจจุบันดร.เดชรัตและทีมเถื่อนเกมยังคงพัฒนาบอร์ดเกมให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง “อะไรที่ทำแล้วต่างไปจากเดิมคือสิ่งที่เราพยายามทำ การออกแบบเกมเป็นการสื่อสาร เปิดโอกาส เปิดมุมมอง เปิดพื้นที่ให้เราได้คิดได้ลองทำอะไรในสไตล์ที่ต่างไปจากเดิม ถ้าอยากรู้มุมมองใหม่ก็ต้องลอง อย่างบางครั้งนึกออกในห้องเรียนตอนนั้นก็ลองทำเลยจะได้รู้ว่าเวิร์คหรือไม่เวิร์ค เพราะเราก็ไม่เคยเจอมาก่อน คนที่เรียนก็ไม่เคยเจอมาก่อน ห้องเรียนในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่วัดผลได้จริง ๆ คือ ถ้าเข้าห้องเรียนแล้วได้ความรู้ใหม่ แนวคิดใหม่ ไอเดียใหม่ ตรงนี้คือความสำเร็จ”

สำหรับใครที่สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่อีเมล deschooling.game@gmail.com หรือติดตามข่าวสารได้ที่เฟสบุ๊ก www.facebook.com/deschooling.games

--

--