YouPin ทำความรู้จักกับ ป้ายุพิน

Good Factory Team
Good Factory
Published in
2 min readDec 4, 2016

--

กระบอกเสียงออนไลน์…มุ่งแก้ปัญหาสังคม

ถ้าเสียงบ่นเปลี่ยนสังคมให้ดีกว่าเดิมได้คงดีไม่ใช่น้อย นี่คือสิ่งที่คุณโจ้-ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้ก่อตั้งบริษัท บุญมีแล็บ จำกัด อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามและเกิดไอเดียดีๆ ซึ่งเป็นที่มาของ YouPin หรือป้ายุพิน Community Reporting Platform ที่ถูกออกแบบเพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการลำเลียงส่งต่อปัญหาและความคิดเห็นทั้งบวกและลบที่พบเจอในสังคมหรือองค์กรไปยังช่องทางที่นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ทุกคนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้แบบจับต้องได้และวัดผลได้

บ่นให้ได้ยิน

ใครจะเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของไอเดียดีๆ อย่าง YouPin จะเกิดจากความหงุดหงิดใจมากกว่าแรงบันดาลใจ คุณโจ้บอกกับเราว่า “ส่วนตัวผมไม่ชอบโพสต์หรือบ่นอะไรบนเฟซบุ๊ก แต่รู้สึกว่าเมืองนี้มันพังๆ มีจุดที่เราคิดว่ามันดีกว่านี้ได้ ก็เลยลองหาทางออก แล้วก็พบว่าจริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ มีช่องทางให้บ่นนั่นก็คือการโทรไปรายงานที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1555 หลังจากลองรายงานไปแล้วปัญหาส่วนหนึ่งก็ได้รับการแก้ไข ก็คิดว่าถ้าเราสามารถรายงานได้เยอะกว่านี้ ด้วยวิธีที่ง่ายกว่านี้หรือช่วยให้เจ้าหน้าที่รับรู้ ติดตามปัญหาและทำงานได้ลื่นไหลขึ้นน่าจะดีไม่น้อย เลยแชร์ไอเดียเกี่ยวกับการออกแบบระบบดังกล่าวกับเพื่อนๆ และคนที่สนใจ เลยกลายเป็น Community Reporting Platform ที่ชื่อว่า YouPin หรือยุพิน ที่มาของชื่อก็มาจากบุคลิกของคุณป้าที่ใจดีและมีวุฒิภาวะ ทุกคนจะมาเล่าหรือบ่นอะไรให้ฟังก็ได้ โดยไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่และเป็นคำว่า “ยุ” กับ “พิน” (Pin หรือการปักหมุด) ที่ต้องการสื่อถึงการ “ยุให้พิน” แล้วก็ลงตัวกับภาษาอังกฤษด้วย พวกเรามีเป้าหมาย คือ การทำให้เมืองของเราน่าอยู่ขึ้นโดยการใช้พลังของเทคโนโลยีและข้อมูล ถ้าโครงการยุพินสามารถเติบโตต่อไปและทำงานเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรุงเทพฯ ของเราก็จะมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ขณะนี้ยุพินเปิดให้มีการรายงานปัญหาผ่าน 3 ช่องทางคือ เว็บไซต์ (www.youpin.city) และ Facebook Messenger โดยกลุ่มเป้าหมายของเราคือ Active Citizen คนในสังคมทุกเพศทุกวัยที่ต้องการให้เมืองดียิ่งขึ้น”

ทำงานแบบมืออาชีพ

ด้วยความที่ทีมงาน YouPin แต่ละคนแบ่งเวลาจากงานประจำแล้วนำความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวมาออกแบบและพัฒนาระบบ ทำให้แม้ไม่ต้องพบกันก็สามารถทำตรงนี้ได้อย่างเต็มที่ คุณโจ้เล่าถึงกระบวนการทำงานให้ฟังว่า “ความตั้งใจหลักๆ ของพวกเราคือ อยากทำให้เมืองเป็น Data-driven City ทำให้เมืองดำเนินไปด้วยการใช้ข้อมูล (Data) นี่คือไอเดียหลัก ซึ่งคนส่วนใหญ่ในกลุ่มของเราทำงานด้านเทคโนโลยีก็จะเข้าใจว่าปัจจุบันหรือในอนาคตการบริหารจัดการเมืองหรือบริการสามารถนำตรงนี้ไปใช้ได้ งานหลักๆ ส่วนใหญ่ คือการออกแบบและพัฒนา ซึ่งสามารถแชร์งานและคุยงานผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ และนัดเจอกันเป็นครั้งคราวเพื่อนั่งทำงานด้วยกัน ที่สำคัญไม่ได้มีกรอบในการทำงาน เพราะแต่ละคนที่มาทำตรงนี้ก็ฝีมือเทพๆ กันอยู่แล้วจึงทำงานได้เร็วและมีคุณภาพ เพียงใช้ความรู้ความสามารถที่มีให้ดีที่สุด เมื่อมีเวลาก็สานต่อโปรเจกต์กันได้แบบไหลลื่น”

ต่อยอดทุกการรายงาน

หลังจากเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคม YouPin ก็ได้รับความสนใจและนำไปสู่การพัฒนายุพินไปอย่างมีเป้าหมาย “การมาถึงตรงนี้เกินกว่าที่คาดหวังไว้พอสมควร แม้ว่าจะเริ่มจากการมารุมทำกันมันส์ๆ แต่เวลาทำอะไรต้องมีเป้าหมาย เราก็ตั้งไว้ ค่อยๆ ทำไปตามจังหวะของเราให้เวิร์คไปทีละจุดก่อน มีหลายองค์กรที่ติดต่อเข้ามา อยากให้เอายุพินไปติดตั้งกับบริการของเขา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ เพราะอันที่จริงยุพินก็สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การบริการในองค์กรใดๆ ดีขึ้นเป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น ถ้าองค์กรใดมีเจ้าหน้าที่ มีผู้ใช้บริการจำนวนหนึ่ง มีอาณาบริเวณ เช่น สถานศึกษาหรือโรงงาน ยุพินก็เป็นตัวช่วยลำเลียงปัญหา ความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการแรกที่กำลังพัฒนาอยู่คือยุพิน สำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะติดตั้งภายในคณะแล้วให้คน
รีพอร์ตหรือแจ้งเมื่อมีปัญหา เช่น ปัญหาไอที Wi-Fi ไม่ทำงาน ปัญหาด้านวิชาการ ทำอย่างไรให้การเรียนการสอนดีขึ้น เป็นต้น เป็นเหมือนช่องทางหนึ่งที่ให้คนใน Community นั้นได้พูดออกมาผ่านแพลตฟอร์มตัวนี้ แล้วก็มีระบบหลังบ้านที่ให้คนทำงานตาม Issue ต่างๆ แก้ไขและรายงานกลับไปได้ ซึ่งมันเป็นองค์กรที่มีขนาดเล็กลงมากว่ากรุงเทพฯ ที่เรามองหาเพื่อเป็นบันไดขั้นแรกในการพัฒนายุพินให้เสร็จสมบูรณ์
เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิดมันเวิร์คไหมและคนที่ใช้งานยุพินมี Feedback กลับมาอย่างไรเพื่อเราจะได้ปรับแก้และทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก”

นวัตกรรมสร้างการเปลี่ยนแปลง

เพราะเชื่อว่าการที่ทุกคนสนใจข้อมูลแล้วบอกต่อเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาย่อมพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นได้ คุณโจ้จึงพร้อมเดินหน้ากับสิ่งที่ทำ “จริงๆ แล้วเราไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาสังคมได้ไหม แต่หลักใหญ่ใจความของเราคือการเป็นสังคม Data-driven City ที่ช่วยกันแบ่งปันข้อมูล โดยรายงานปัญหาเข้ามาแทนที่จะรอเจ้าหน้าที่ลงไป ช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็วขึ้น ส่วนตัวผมมองว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยแก้ได้เกือบทุกอย่างและมีให้เลือกใช้มากมายหลายแบบ เพียงแค่พื้นฐานคือใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับงานที่ทำและใช้อย่างถูกต้องก็จะช่วยประหยัดเวลา ทรัพยากร และงานก็จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่วนเรื่องของ Innovation มันเหมือนกับการลองผิดลองถูก ไม่ใช่ว่าทำงานแรกแล้วเวิร์คเลย ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีคือ แม้จะทำผิดพลาดก็ยังกลับมาปรับแก้ใหม่แล้วพัฒนาต่อไปได้รวดเร็ว อยากให้ลองสร้างสรรค์ในแบบของตัวเองก่อน อย่างยุพินแทบไม่มีรายจ่าย มีแต่การออกแบบและเขียนโปรแกรม ถ้าไม่เวิร์คก็จบไป หรือจะทดลองทำ Prototype เพื่อทดสอบให้ชัวร์แล้วค่อยขยายออกไปวิธีนี้ก็น่าสนใจ เพราะจะรู้ว่าโปรเจกต์เวิร์คหรือไม่เวิร์คก็ไม่เสียหายอะไรมาก อย่างตัวผมเองตอนเริ่มมันจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คก็ไม่รู้หรอก แต่ผมลงมือทำไปแล้ว”

ทุกวันนี้ YouPin หรือป้ายุพินยังคงรอฟังเสียงบ่น เพื่อปัก Pin ให้ตรงจุด และติดตามผลที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาบริการในสังคมให้ดียิ่งกว่าเดิม

ติดตามอัพเดตเรื่องราวและบ่นเรื่องกวนใจกับ YouPin ได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/youpin.city/ หรือที่เว็บไซต์ https://youpin.city หรือจะอีเมลมาก็ได้เช่นกันที่ contact@youpin.city

--

--